‘เจาะใจ’ ผู้บริหารสาวรุ่นใหม่ไฟแรง อย่าง คุณน้ำผึ้ง จารุวรรณ โชติเทวัญ ผู้บริหารแบรนด์ Pauldy กับการฝ่าฟันบุกตลาดอาหารปั้นแบรนด์น้องใหม่ เป้าหมายคือการทำให้ Pauldy เป็นมากกว่าแบรนด์อาหาร เพื่อให้คนไทยได้รับรู้ถึงรสชาติ และวัตถุดิบชั้นดี คุณภาพมาตรฐานส่งออก
การต่อจิ๊กซอว์ธุรกิจ “สหฟาร์ม” อยู่ในสายเลือดทายาท การตัดสินใจสร้างแบรนด์ “พอลดีย์” ฝ่าวิกฤติโควิด ไม่ง่าย แต่ “จารุวรรณ โชติเทวัญ” ขอใช้เป็นประตูเปิดโอกาสครั้งใหม่ สานอาณาจักรฟาร์มไก่
หากเอ่ยชื่อ “สหฟาร์ม” แวดวงอาหาร ผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยรู้จักเป็นอย่างดี เพราะเป็นยักษ์ใหญ่ส่งออกไก่ของเมืองไทย ทำตลาดมานานกว่า 5 ทศวรรษ ธุรกิจถูกขับเคลื่อนโดย 2 หัวเรือใหญ่ “ดร.ปัญญา–ดร.มนูญศรี โชติเทวัญ” ในฐานะผู้ก่อตั้งอาณาจักรอาหารป้อนประชากรโลกจนทำยอดขายระดับหมื่นและแสนล้านบาท
ธุรกิจที่เคยเติบใหญ่ แต่บางห้วงเวลาเจอพายุถาโถม ทำให้ทุกคนในครอบครัวหาทางฝ่ามรสุมให้ได้ แม้กิจการสหฟาร์มที่อยู่ในแผนฟื้นฟูกิจการ แต่ “ทายาท” ที่มีดีเอ็นเอนักสู้ และสายเลือดการทำธุรกิจที่หล่อหลอมจากบิดามารดา “จารุวรรณ โชติเทวัญ”ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยเบสท์โพลทรี จำกัด จึงขยับตัวออกมาสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ไก่และไข่ภายใต้แบรนด์ “พอลดีย์”ท่ามกลางวิกฤติโควิด-19 ระบาด
จารุวรรณ เท้าความการเข้ามาช่วยขับเคลื่อนธุรกิจครอบครัวอย่าง “สหฟาร์ม” ตั้งแต่เด็กๆ ร่วมกับพี่ๆ โดยพ่อแม่มักจะให้ลูกๆ มาช่วยค้าขายสินค้าที่ซูเปอร์มาร์เก็ต ได้โอกาสรับฟังการทำงานเมื่อมีประชุม ครั้นจบการศึกษาจากประเทศอังกฤษได้เข้ามารับไม้ต่อเต็มตัวดูแลด้านการเงิน ก่อนมองหาความท้าทายใหม่กุมบังเหียนงานการตลาดต่างประเทศ ดูแลลูกค้ารายใหญ่ที่มีออเดอร์มหาศาล
สหฟาร์มเป็นองค์กรเก่าแก่กว่า 50 ปี ส่วน “จารุวรรณ”สานกิจการครอบครัวกว่า 20 ปี เห็น Pain point ที่แปลงเป็น “โอกาส” คือการสร้างแบรนด์ผลิตภัณฑ์ไก่และไข่ทำตลาดอย่างจริงจัง
“เป็นความฝันตั้งแต่เด็กที่จะมีแบรนด์สินค้า เคยถามพ่อว่าทำไมไม่สร้างแบรนด์ตัวเองเพื่อนำสินค้าขายปลีกในห้าง…คำตอบจากพ่อที่ชี้อุปสรรคการค้า และลองบุกตลาดเองจึงรู้ว่าไม่ใช่เรื่องง่าย“
จารุวรรณ ใช้เวลา 2 สัปดาห์ปลุกปั้นแบรนด์“พอลดีย์”(Pualdy) ซึ่งมีที่มาจากชื่อบิดา “ปัญญา : PY” ส่วนผลิตภัณฑ์ไก่และไข่ มีแต้มต่อจากการลงทุนร่วมพันล้านบาท ทำฟาร์มไก่อารมณ์ดีบนเนื้อที่ 596 ไร่ ซึ่งตั้งอยู่ในหุบเขาธรรมชาติ ล้อมรอบด้วยเทือกเขาเป็นป้อมปราการธรรมชาติป้องกันเชื้อโรคเข้ามาในพื้นที่ โรงเรือนถูกควบคุมด้วยมาตรฐานการเลี้ยงระดับโลก ไม่ใช้สารเร่งปฏิกิริยาเติบโต และไฮไลท์สำคัญคือการทำให้ไก่มีความสุขด้วยการเปิดเพลงคลาสสิกให้ฟังตั้งแต่วันแรกจนเติบโต ทำให้เป็นไก่ที่มาจากฟาร์มไก่อารมณ์ดี
ด้านผลิตภัณฑ์การันตีถึงคุณภาพ เพราะการบ่มเพาะประสบการณ์ในธุรกิจมาอย่างยาวนานทำให้เข้าใจการเลี้ยงไก่อย่างถ่องแท้ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ดังนั้น ของดีทั้งไก่และไข่พอลดีย์จึงวางตำแหน่งทางการตลาด “พรีเมี่ยม” ตอบโจทย์ผู้บริโภคที่ยินดีจ่ายเพื่อสินค้าที่ดีต่อสุขภาพ
พอลดีย์มีผลิตภัณฑ์ “ไก่” เป็นพระเอก “ไข่” เป็นพระรองที่มาแรง และสินค้าพร้อมมทานพร้อมปรุงตอบโจทย์ผู้บริโภค ส่วนหน้าร้าน“จารุวรรณ”มุ่งช่องทาง “ออนไลน์” เช่น เว็บไซต์ pauldy.comไลน์แอด อินสตาแกรม ฯ เพราะต้องการให้สินค้าจากฟาร์มสดถึงมือผู้บริโภค ซึ่งปีนี้จะผนึกพันธมิตรแพลตฟอร์มออนไลน์เพิ่ม 10 ราย ด้านกลยุทธ์การตลาดมีศิลปิน เซเลบริตี้ช่วยสร้างการรับรู้แบรนด์ และวางแผนนำ “ฟู้ดทรัค” พอลดีย์ไปสร้างประสบการณ์ เสิร์ฟความอร่อยให้ผู้บริโภคยังสถานที่ต่างๆด้วย
โควิดระบาดอีกระลอก เป็นวิกฤติผู้ประกอบการ แต่“จารุวรรณ”เคยเผชิญมรสุมใหญ่อย่างโรคไข้หวัดนกมาแล้ว ซึ่งกระทบการส่งออกไก่ยาวนานเป็น 10 ปี ถึงขั้นขายไก่ในราคาต่ำมากแต่ลูกค้าไม่ซื้อ
“สหฟาร์มเจอโรคไข้หวัดนกระบาดมาก่อน สำหรับเราถือว่าร้ายแรงมากๆ แต่เป็นบทเรียนทำให้เรารับมือวิกฤติได้ดี ขณะที่โควิดถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ เพราะทำให้เราลุกขึ้นมาสร้างแบรนด์พอลดีย์ เป็นประตูแห่งโอกาสทางธุรกิจ”
แม้พอลดีย์จะเป็นแบรนด์น้องใหม่ แต่ด้วยจุดเด่นผลิตภัณฑ์ไก่ที่เชื่อว่าแตกต่างจากคู่แข่งจะทำให้เข้าไปอยู่ในใจผู้บริโภคได้ เป้าหมายการสร้างแบรนด์ครั้งนี้หวังยอดขายกว่า 300 ล้านบาท และแตะ 1,000 ล้านบาท ภายใน 2-3 ปี
ทว่า เป้าหมายใหญ่สุด “จาวุวรรณ” ต้องการเห็นพอลดีย์ เป็นมากกว่าแบรนด์อาหาร เพราะต้องการเห็นแบรนด์ไทยเติบใหญ่และขยายสินค้าไปได้กว้างไกลมาากขึ้น ส่วนจะเป็นอะไร ต้องติดตาม! ขณะเดียวกันเธอต้องการเห็น “สหฟาร์ม” กลับมาเป็นดาวเด่นอีกครั้งและทำหน้าที่ผลิตอาหารเพื่อป้อนแก่มวลมนุษยชาติ เพราะไม่ว่าแบรนด์ “พอลดีย์” หรือสหฟาร์ม ที่สุดก็คืออาณาจักรที่ครอบครัว “โชติเทวัญ” สร้างมากับมือ
การสร้างแบรนด์พอลดีย์
“การสร้างแบรนด์พอลดีย์ ทำให้การตัดสินใจเร็ว เพราะธุรกิจยุคนี้ไม่ได้เปิดโอกาสให้ผู้ที่ช้า การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตลอด หากเราทำแล้วพบข้อบกพร่องจะเปลี่ยนกลยุทธ์ทันทีจนกว่าจะเจอจุดที่ใช่ แบรนด์เราเกิดภายใน 2 สัปดาห์ โคลนนิ่งทุกอย่างจากประสบการณ์ที่พ่อแม่บ่มเพาะมาตลอด”
ขอขอบคุณ หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจนะคะ #หนังสือพิมพ์ข่าวธุรกิจอันดับ 1 ของประเทศไทย